เจแอลแอลชี้ครึ่งหลังปี66 การลงทุนซื้ออสังหาฯเอเซียแปซิฟิกคึกคักหลังจีนเปิดประเทศ-เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัว เหตุได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยน้อยกว่าภูมิภาคอื่น
รายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนซื้อขายอาคารหรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิก ที่มีประโยชน์การใช้ในเชิงธุรกิจ อาทิ อาคารสำนักงาน โรงแรม ศูนย์การค้า โรงงาน โกดัง และอื่นๆ ไม่นับรวมการซื้อขายบ้าน/คอนโด
โดยผู้ซื้อหรือนักลงทุนรายย่อย และที่ดินเปล่ามีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 1.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปี 2564 ราว 27% ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขที่เจแอลแอลเคยประมาณการณ์ไว้ก่อนหน้า
เฉพาะไตรมาส 4 ของปี2565พบว่ามูลค่าการลงทุนซื้อขายปรับลดลงมากถึง 41% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2564 แต่หากเทียบระหว่างไตรมาส 4 กับไตรมาส 3 ของปี 2565 จะพบว่า การปรับลดลงอยู่ในอัตราที่น้อยกว่า คือลดลงไป 12%
ซึ่งสอดรับกับการประเมินสถานการณ์ของเจแอลแอลที่คาดว่า มูลค่าการลงทุนซื้อขายในปี 2566 นี้ อาจปรับตัวลดลงต่อไปได้อีก แต่จะไม่แรงเท่ากับปีที่ผ่านมา
นายสจ๊วต โครว์ ซีอีโอฝ่ายบริการด้านการลงทุน เจแอลแอลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า นักลงทุนยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพระยะยาวของตลาดอสังหาริมทรัพย์เอเชียแปซิฟิก แต่ในปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับกลยุทธ์การลงทุน
โดยส่วนใหญ่ยังไม่แน่ใจว่า ราคาเสนอขายสำหรับสินทรัพย์ที่ตนสนใจจะเข้าลงทุนซื้อ เป็นราคาที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ คาดว่า แนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 นี้ “ช่องว่าง”ของราคาที่ผู้ซื้อและผู้ขายคาดหวังจะค่อยๆ ปรับเข้าใกล้กันมากขึ้น
ในปี 2565 ที่ผ่านมา เกาหลีใต้เป็นตลาดการลงทุนที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด คือ 2.62 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ปรับลดลง 11% เมื่อเทียบกับปี 2564 ส่วนที่จีน กิจกรรมการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ทำให้มีมูลค่าการลงทุนซื้อขายรวม 2.48 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่โดยรวมยังต่ำกว่าปี 2564 ถึง 37% เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีการซื้อขายมากขึ้นในไตรมาสสุดท้าย แต่มูลค่าโดยรวมของทั้งปียังต่ำกว่าปี 2564 ถึง 40%
ออสเตรเลียมีมูลค่าการซื้อขายรวม 2.09 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 38% จากปี 2564 เป็นผลมาจากการที่ราคาที่เสนอซื้อกับเสนอขายมีช่องว่างห่างกันมาก ส่วนฮ่องกงแม้จะได้รับความสนใจสูงขึ้นจากนักลงทุนหลังมีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด แต่การลงทุนที่เกิดขึ้นจริงในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเพียง 7.7 พันล้านดอลลาร์ ปรับลดลงไป 24%
สิงคโปร์เป็นตลาดการลงทุนซื้อขายที่มีมูลค่าปรับขึ้นคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดในภูมิภาคสำหรับปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่ารวม 1.42 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 53% จากปีก่อนหน้า
อาคารสำนักงานยังคงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงในภูมิภาค โดยในปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 6.05 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ลดลงไป 18.7% จากปี 2564 โดยนักลงทุนพิจารณามากขึ้นในการเลือกว่าควรลงทุนในอาคารเกรดเอหรืออาคารเกรดรอง
อสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงงานและโกดังสินค้า มีมูลค่าการซื้อขายรวม 2.59 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ลดลงไป 46% จากปีก่อนหน้า ส่วนอสังหาริมทรัพย์ในภาคธุรกิจค้าปลีกหรือศูนย์การค้า มีมูลค่าการซื้อขายรวม 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงไป 39%
โรงแรมเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มูลค่าการลงทุนมีอัตราการขยายตัวดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิกในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น 7% ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 1.01 หมื่นล้านดอลลาร์
นางพาเมลา แอมเบลอร์ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลสารสนเทศด้านการลงทุน ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของเจแอลแอลกล่าวว่า แม้ตลาดการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิกในปีที่ผ่านมาโดยรวมจะปรับลดลง แต่สัญญาณการฟื้นตัวที่เริ่มปรากฏให้เห็นในไตรมาสสุดท้ายของปี
ถือเป็นสัญญาณที่ดี คาดว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจลงทุนในตลาดอาคารสำนักงานที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ศูนย์การค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ รวมไปจนถึงการหาโอกาสซื้อสินทรัพย์ดีที่มีศักยภาพในการขายต่อเพื่อทำกำไรในอนาคตในตลาดพัฒนาแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิกในปีนี้
ที่มา:https://www.bangkokbiznews.com/property/1050878
วันที่ 1/2/2023
อัพเดทเมื่อวันที่ 01/02/2023