
การวางและจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่4) เดิมมีเป้าหมายปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนสิ้นสุดภายใน วันที่22 มกราคม2567 แต่เนื่องจากมีประชาชน และองค์กรหลายภาคส่วน ออกมาคัดค้าน ในหลายประเด็น และท้วงติงว่าการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนสั้นเกินไป และอาจเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ได้มากขึ้นโดยเฉพาะในซอยแคบ สะท้อนจากการกำหนดแนวถนนตามผังเมืองรวม และอาจนำมาซึ่งการเวนคืนขยายเขตทางในอนาคต ซึ่งเกรงว่าชุมชนจะได้รับผลกระทบ
ดังนั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) มีนโยบายขยายเวลาการรับฟังความคิดเห็นประชาชนออกไปจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อรวบรวมเสียงสะท้อนที่ได้นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ได้ผังเมืองรวมที่ดีที่สุดต่อไป และคาดว่าจะเร่งประกาศใช้ได้ประมาณกลางปีหรือปลายปี 2568
สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การพัฒนาที่เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ของร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ เกิดจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มีรถไฟฟ้าเกิดขึ้นในหลายเส้นทางทั้งเปิดให้บริการแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง ยังไม่รวมแผนในอนาคตที่มีเป้าหมายให้กทม.เป็นมหานครระบบราง มีเป้าหมายให้ประชาชน อยู่อาศัยและเดินทางโดยรถไฟฟ้าเข้าถึงแหล่งงาน เพื่อแก้ปัญหารถติด และมลพิษทางอากาศ
นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ต้องยอมรับว่าร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นซึ่งเป็นบวกต่อภาคเอกชน และต้องเห็นใจประชาชนที่มีความกังวลว่าอาจเกิดผลกระทบหากมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นในซอยหรือ บริเวณชุมชน แต่ตามข้อเท็จจริงโดยส่วนตัวมองว่า ผังเมืองรวม ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน คือปี 2556 ไม่มีการปรับปรุงมาเป็นเวลา11ปี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเมืองจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงข่ายถนน รถไฟฟ้า ที่รัฐใช้งบลงทุนค่อนข้างสูง